วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

คลี่ม่านแดนนธยา...



คลี่ม่านแดนสนธยา ผ่าอาณาจักรสองพันล้าน ; สสส. ในระยะเปลี่ยนผ่าน...

ยุคก่อนพูดถึงแดนสนธยา ในจินตภาพของ องค์กรที่ลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มีพฤติกรรมเกาะเกี่ยวเหนียวแน่น เฉพาะกลุ่มพวกตน จนมีลักษณะเป็นอาณาจักรลี้ลับ ที่มืดมัว มองจากภายนอก เห็นได้ไม่ชัดนัก ว่าคนในองค์กรนั้นทำอะไรอยู่ข้างใน ไม่เป็นที่ประจักษ์ เสมือนหนึ่งแดนสนธยา ก็คือ อสมท. นั้น
ในยุคปัจจุบัน มีหน่วยงาน กลไก องค์กรอีกหลายแห่งที่บริหารงานภายหลังม่านหนา บาง ที่ขวางกั้นระหว่างการดำเนินกิจกรรมภายในหน่วยงานหรือองค์กรนั้น กับ การจับตา เฝ้ามองของประชาชน พลเมืองที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสาธารณะ
สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ก็คือหนึ่งในจำนวนนั้น
จะด้วยลักษณะการจัดตั้งองค์กร ที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน คือ มีลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ในขณะเดียวกันก็มีพันธกิจในทางตรงข้ามกับแหล่งที่มาของรายได้ คือ มีการณรงค์ให้คนลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่
ภายใต้วิสัยทัศน์ที่คัดง้างแนวทางการบริหารจัดการด้านสุขภาพอนามัยเดิม ที่เน้นความหมายของการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ คืออาการทางกายภาพเป็นหลัก แต่ สสส.มีวิสัยทัศน์ในทิศทาง แนวทางใหม่ ที่ขยายบริบทการดูแลทางกายภาพ มาเป็นการสร้างวาทกรรมใหม่คือ “สุขภาวะ” ในความหมายของภาวะองค์รวม ของ สุขภาพกาย ใจ จิต วิญญาณหรือปัญญา และชุมชนหรือสังคม ล้วนนำสู่ “คนไทยมีสุขภาวะอย่างยั่งยืน”
ด้วยความพิเศษขององค์กรที่มีที่มา ลักษณะ แนวคิด ที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่เข้ามารับผิดชอบองค์กรนี้ในระดับบริหารเกือบทุกลำดับชั้นนั้น ก็คือ คุณหมอ ทั้งหลายนั่นเอง
คุณหมอที่ถือได้ว่าเป็นบุคลากรสำคัญชั้นหัวกระทิของสังคมไทย ที่มีความเก่ง เป็นเลิศมาทั้งชีวิต เมื่อมารวมกันในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงยิ่งมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าตนเองรอบรู้และเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพราะ สสส.มีขอบเขตการดำเนินงานที่กว้างขวาง มีหน่วยงานภายในถึง ๙ สำนัก กับ ๑๓ แผนงานยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งต้องการผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่การบริหาร การตัดสินใจเฉพาะเรื่อง เฉพาะทาง เช่น ด้านการพัฒนาชุมชนท้อถิ่น การสื่อสารสาธารณะ การจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
การนำองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ ด้วยคนกลุ่มพิเศษ ในภารกิจพิเศษ โดยขาดสติยั้งคิดในการเปิดเผย อย่างโปร่งใส จึงทำให้ สสส. หลุดเข้าไปอยู่ใน “แดนสนธยา” อย่างไม่รู้ตัว แปลกแยกจากสังคม สาธารณะไปเรื่อยๆ
สสส. ที่ถูกทำให้เป็นโลกส่วนตัวของคุณหมอทั้งหลาย เสมือนเกาะที่ไร้รากยึดเหนี่ยวจึงไหลเรื่อยไปตามกระแสน้ำเชี่ยวของการพัฒนาตามนโยบายรัฐที่ครอบงำโดย กลุ่มทุนการเมืองและกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างมิอาจเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในองค์กรของ สสส.ในร่มเงามืดครึ้มของความเป็นดินแดนสนธยา จึงนำมาซึ่งความไม่โปร่งใส และขัดกับหลักธรรมาภิบาล
โดยเฉพาะกระบวนการคัดสรรผู้บริหารหมายเลข ๑ ขององค์กรที่มีอายุสมัยละ ๔ ปีในตำแหน่ง ซึ่งหากย้อนหลังไป ๔ ปีที่แล้ว ผู้บริหารเบอร์ ๑ สมัยแรกมุดน้ำดำดินเข้าสู่เก้าอี้เดิมในสมัยที่สองอย่างชนิดที่ทุกคนไม่ทันกระพริบตา แม้ผู้สมัครแข่งขันท่านหนึ่งต้องมึนงงอย่างยิ่งที่ตัวเขาในฐานะผู้สมัครเข้ารับการคัดสรร ไม่มีโอกาสแม้การเรียกไปสัมภาษณ์หรือแสดงวิสัยทัศน์ใดๆ ทั้งสิ้น
และความแปลกพิสดารของการคัดสรรครั้งใหม่ก็หวนกลับมาอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา มีประกาศเล็กๆเพียงสองสามบรรทัดบนหน้าแรกของเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ สสส.เหมือนจงใจไม่ให้เป็นที่สังเกตเห็นของผู้คน ไม่มีรายละเอียดกระบวนการสรรหา ไม่มีรายชื่อกรรมการสรรหา ไม่มีกำหนดเวลา ไม่มีรายชื่อผู้สมัคร ไม่มีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส
ทำให้ผู้เฝ้าจับตาดูด้วยใจระทึก อดนึกไม่ได้ว่ากระบวนการคัดสรรที่แสนจะลึกลับนี้ ทำเสมือนหนึ่งว่ามีการ “วางตัว” คนในหมู่หมอๆของ สสส.ไว้แล้ว
มิหนำซ้ำยังมีกระบวนการพิสดารที่สำนักงานจะต้อนผู้สมัครทั้งหมดไปเก็บตัวที่สามพรานในวันที่ ๑๑-๑๒ กันยายนนี้ เพื่อปฐมนิเทศผู้สมัคร ซึ่งเป็นผู้สมัครในตำแหน่งสูงสุดคือหมายเลข ๑ ขององค์กรซึ่งต้องเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงาน ต้องมาเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานที่จะอบรมผู้สมัครนี้ เป็นงูกินหาง แต่อีกนัยหนึ่งมองได้ว่าองค์กรปิดจากแดนสนธยานี้ มีความพยายามจะเข้าครอบงำผู้ที่จะมาเป็น ผู้บริหารคนใหม่ โดยเริ่มกระทำการตั้งแต่ยังเป็นผู้สมัคร
ทำไม สสส.ในฐานะองค์กรสำคัญเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และบริหารจัดการองค์กรด้วยบุคลากรระดับมันสมองที่มีคุณภาพ จึงกระทำการในแง่มุมที่ส่อเสี่ยงหมิ่นเหม่ต่อคุณธรรม และธรรมาภิบาลของการบริหารองค์กรสาธารณประโยชน์เช่นนี้
ทำไม สสส. จึงฝังตนเองไว้ในม่านหมอกควันแห่งแดนสนธยาที่มัวซัวเช่นนี้ ไม่สร้างความโปร่งใสในกระบวนการบริหารจัดการให้เป็นที่ประจักษ์
ทำไม ? ทำไม ? และ ทำไม ?
ต้องติดตามตอนต่อไป เมื่อผ่าอาณาจักรของหมอๆ ก็พบเดิมพันงบประมาณกว่าปีละสองพันล้านที่ต้องผ่าทางเดินของงบประมาณเหล่านี้ว่าจะนำไปสนองตอบต่อใคร ? ในภารกิจใด ?
โปรดติดตามตอนต่อไป (เพราะยังไม่จบข่าว ! )

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2552 เวลา 19:45

    สสส.ในระยะเปลี่ยนผ่าน ; แกะรอยมรดกภาษีบาปสองพันล้าน...เส้นทางบาปของนักบุญ...

    โดย ธงไท เทอดอุดม 15 กันยายน 2552 13:53 น.



    แม้คลื่นใหญ่หลังบทความเรื่อง “คลี่ม่านแดนสนธยา ผ่าอาณาจักรสองพันล้าน ; สสส. ในระยะเปลี่ยนผ่าน...” ตีพิมพ์ที่นี่ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา จะถาโถมโรมรันพันตูอยู่ท่วมโลกไซเบอร์ จรดเถียงนาผ่ากลางโรงงาน ผ่านมหาวิทยาลัยดังไปยังย่านธุรกิจสำคัญกลางเมืองหลวง ที่ล้วนมีเม็ดเงินจาก สสส.แผ่ซ่านไปทั่วทุกแห่งหนในสังคมไทย...

    ด้วยความกังขาว่างบประมาณของ สสส.ปีละมากกว่าสองพันล้านบาท จะได้รับการดูแลรับผิดชอบโดยใคร? กับความไม่โปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้จัดการที่ดำเนินการกันอย่างลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และรวบรัดยิ่งนัก...มิไยจะฟังคำท้วงติง จากทั่วทุกสารทิศ....

    กับคำถามที่ว่า กรรมการสรรหามีใครบ้าง? ก็เพียงเพื่อสังคม สาธารณะจะรู้ได้ว่า....กรรมการแต่ละท่าน มีประวัติ เกียรติยศ ดีแค่ไหนหรือใครไม่เข้าท่า อันนำไปสู่การ วินิจฉัย ตัดสินใจเชื่อถือได้หรือไม่...???

    กับคำถามที่ว่า มีหลักเกณฑ์การสรรหาเป็นเช่นไร? ก็เพื่อสังคม สาธารณะผู้กระหายในธรรมาภิบาลจะกล่าวขานถึงได้ว่ากระบวนการสรรหานี้ ถูกต้อง โปร่งใส เหมาะควร แค่ไหน? อย่างไร?

    กับคำถามที่ว่า ใคร คือผู้สมัครบ้าง? ก็เพียงเพื่อได้พิจารณาเปรียบเทียบว่าใครคือผู้เหมาะสมเข้าตาประชาชน และเขาก็จะสามารถยืดหน้าท้าสายตามหาชนอย่างอาจอง สง่างาม....วานบอก...

    แต่แทนที่ สสส.จะเปิดตัว เปิดใจทำทุกอย่างให้โปร่งใส..กลับไม่ทำ..ยิ่งมุดน้ำดำดินดิ้นหนีสายตามหาชน แยกองค์กรอิสระที่เกิดภายใต้เจตจำนงบริสุทธิ์ ทั้งเคยพิสูจน์ตนเองในยุคสงครามกับคนดี..ปุระชัย คราวที่ถูกการเมืองรุกไล่จนต้องซุกในอ้อมกอดอันอบอุ่นของภาคีนับพันองค์กรที่ชุมนุมใหญ่ที่ไบเทค บางนา เพื่อปกป้องรักษาองค์กรอิสระนี้เอาไว้....เอาไว้เพียงเพื่อวันนี้องค์กรนี้จะถูกแยกไปจากอ้อมกอดของมหาชน ไปเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมของหมอเด็กๆ ไม่กี่คนที่พยายามสร้างอาณาจักรส่วนตัวของกลุ่มตนบนกองมรดก “ภาษีบาป” มูลค่าปีละกว่าสองพันล้านบาท.....

    คำถามคือทำไม? เพื่ออะไร? โดยใคร? และอย่างไร?

    ตอบลบ
  2. (ต่อ)


    จากเอกสารรายงานประจำปีที่แถลงอย่างเป็นทางการล่าสุดคือปี 2550 ระบุถึงเม็ดเงินที่ สสส.ได้รับการจัดสรรจากภาษีเหล้า บุหรี่ ยอดเงินรวม 2,035 ล้านบาท ได้ถูกใช้สำหรับเป้าหมายกลุ่มปัจจัยเสี่ยงหลัก (บุหรี่ เหล้า ออกกำลังกาย และอุบัติเหตุ) เป็นวงเงินสูงสุดถึง 587.5 ล้านบาท (28.9%) เพื่อสุขภาวะองค์รวม 529 ล้านบาท (26%) พัฒนาระบบและนโยบาย 320.8 ล้านบาท (15.8%) และที่ต้องขีดเส้นใต้คือ งบการตลาดเพื่อสังคม 319.2 ล้านบาท 15.7%...เป็นงบ “เนื้อๆ” ทีเดียว...ฯลฯ

    ปรากฏการณ์ที่เป็นร่องรอยสำหรับการตามรอยหรือแกะรอยกองมรดกภาษีบาปสองพันล้าน/ปี ได้แก่...

    ปัญหาการอนุมัติโครงการ ซึ่งเปรียบเหมือนหนังไทยโบราณคือมีหลายแบบหลายแนว ทั้งชีวิต ซึม เศร้า บู๊ ตลก ......เช่น การอนุมัติโครงการส่วนใหญ่ต้องตกลงในวงนอกก่อนเสมอมี ผอ.สำนักฯ ต่างๆ เป็น Key man คอยปั้น ชง โยง โยกงบที่ระบุในกรอบงบประมาณทางการลงในช่องของกลุ่มองค์กร เครือข่ายที่เป็นที่รู้จักหรือตกลงเป็นการภายในกันก่อนแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สสส. เป็นผู้ถือติ้วชี้ขาดให้ หรือไม่ให้...หรือบางโครงการขนาดใหญ่ติ้วที่โยนเข้ากลางวงพิจารณานั้นมาจากผู้หลักผู้ใหญ่(ในวงการ) แต่นอกวงพิจารณาอย่างเป็นทางการ ก็มีมาให้เห็นเป็นระยะ....เมื่อเจรจาภาษาเดียวกัน (ต้องท่องคำขลังๆ อย่าง...สุขภาวะ/สุขภาวะองค์รวม) ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จัดพิธีกรรม พิธีการ อันสลับซับซ้อน (เอาไว้ร่อนคนนอกออกพ้นกองมรดก ?) คือมีทั้งพิธีการให้นักวิชาการ (พวกตน) มาอ่านงานผู้เสนอก่อนเข้าที่ประชุมวงใหญ่พิจารณาอีกทีหนึ่ง....

    คำถามว่ากระบวนการ “เขาวงกต” เช่นนี้ ช่วยกลั่นกรองอะไรได้บ้าง....ในปรากฏการณ์ที่เป็นจริงก็คือ กลุ่มคน ชมรม องค์กร หรือ เครือข่าย ที่สามารถผ่านช่องทางหรือกระบวนการเขาวงกตนี้ ล้วนเป็นกลุ่มคนที่คุ้นเคยกันกับอย่างน้อย ผอ.สำนักฯ หรือระดับรองฯ ผู้บริหารองค์กรแทบทั้งสิ้น เม็ดเงินมากกว่าครึ่งของแต่ละปีหล่อเลี้ยงกลุ่มคนเก่า คนคุ้นเคยเอาไว้ ส่วนคนใหม่ สด ซิง walk in เข้ามาแบบไม่ต้องรู้จักใคร...เขียนใบสมัครที่หน้าเว็บเพจ ...ข้อมูลเชิงประจักษ์ก็คือเคยส่งโครงการชั้นดีเข้ามาในช่องทางนี้...นานกว่าครึ่งปีเห็นเงียบไปเฉยๆ โทร.ไปถาม ได้รับคำตอบว่า มีโครงการยื่นมาเยอะ 170 กว่าโครงการ แต่เพิ่งพิจารณาเสร็จไปแค่ 7 โครงการเท่านั้น... “รอหน่อย” เสียงปลายสายไม่ตอบกำหนดการชัดเจนให้ได้....ไม่รู้ว่าชาติหน้าถึงคิวหรือยัง?

    กับอีกปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่กลไกระดับ “แผนงานฯ” ที่ถืองบมหาศาลในแต่ละปี ถึงเวลาเทศกาลต้องรณรงค์ เพื่อนหญิงอยู่ในแผนงานฯ ชง งบ ผ่านเพื่อนชายที่เป็น Agent ติดต่อองค์กรกึ่งทางการที่ทำงานในระดับท้องถิ่น อัดงบระดับสิบล้านผ่านเข้าองค์กรนั้นไปกระจาย (หรือละลาย?) กับสาขาสมาชิก โดยมี “สินน้ำใจ” ในรูปแบบ “งบวิทยากรกระบวนการ” กว่าครึ่งล้านผ่านคืนมาทางเพื่อนชาย แบบชงเอง แบ่งๆ กันกิน...

    เป็นบางตัวอย่างของการ “อนุมัติโครงการ” ในโครงสร้างการบริหารแบบเดิมๆ ที่แปลความหมายของคำว่า “ภาคี” หรือเครือข่ายความร่วมมือไปเป็น “บริวาร” หรือลูกน้อง-ลูกสมุน ในทางปฏิบัติเหยียดปลายเท้าก้าวเข้าสู่ความเคยชินทางการบริหารของระบบคิดเชิงอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม.... ทำให้มรดกภาษีบาปปีละสองพันล้านบาทนี้ แทนที่จะเป็นปุ๋ยรดน้ำพรวนดินให้ไม้ใหญ่น้อยในสวนเติบใหญ่เบิกบาน กลับกลายเป็นปุ๋ยเคมีที่เจ้าของใช้รดหล่อเลี้ยงบอนไซไว้ดูเล่น

    ไม่นับที่ขีดเส้นใต้ไว้ในหมวดงบการตลาดเพื่อสังคม ยอดเงิน 319 ล้านบาทในปี 2550 ในความหมายของงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการรณรงค์ต่างๆ ซึ่งในรูปการจัดจ่ายงานนั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่าจำกัดอยู่ในแวดวงคนกันเองแค่ไหน หรือรายไหนผูกปิ่นโตเถายาวอยู่ที่นี่

    รวมทั้งยังมิได้วิพากษ์ประเด็นเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหาการโฆษณา หรือรูปแบบการรณรงค์ที่ทุ่มเทงบมากกว่า 200 ล้านบาท เสนอคำหรือวลีเท่ห์ๆ ออกมาฮือฮาแบบไฟไหม้ฟาง วูบเดียวเผาเงินไปเป็นร้อยๆ ล้านบาท...แล้วยังไง? คนเลิกเหล้าได้กี่คน? พอไฟวาบแล้ว...ออกพรรษาแล้วก็กลับมากินต่อ? ปีหน้าเอาเงินมาเผาใหม่...เอางั้นหรือ?

    ตามลายแทงขุมทรัพย์สองพันล้านฯ ต่อปี ของ สสส.ถึงนาทีนี้ หากกล้ายอมรับความจริง ฟังเพื่อนรอบข้างอย่างมีสติ กลับมาอยู่ในลู่ทางอย่างที่ควรจะเป็นปล่อยวางอย่าสร้างอาณาจักรเฉพาะกลุ่มตน คืนองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชนชาวไทย กลับสู่อ้อมกอดของสังคมไทย

    เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเถิด....

    เราต้องการการเปลี่ยนแปลง

    Changes!

    เดี๋ยวนี้.

    ตอบลบ